เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าในตระกูลแมวซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของทวีปเอเซีย ในอดีตที่ผ่านมาเคยพบว่ามีเสือโคร่งกระจายอยู่ทั่วไปในแผ่นดินเอเซีย ตั้งแต่ทางภาคใต้ในดินแดนไซบีเรียของประเทศสหพันธรัฐเอกราชรัสเซีย คาบสมุทรเกาหลี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาชนจีนเรื่อยมาจนถึงภาคตะวันออกของตุรกีและภาคเหนือของอิหร่านบริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบแคสเปียน ส่วนทางตอนใต้นั้นพบว่าเสือโคร่งมีการกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศอินเดีย เนปาลภาคใต้ เมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แหลมมาลายูของมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา และเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งเสือโคร่งออกเป็น 8 สายพันธุ์ โดยเสือโคร่งไซบีเรีย (Panthera tigris altaica) เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุด ส่วนเสือโคร่งบาหลี (Panthera tigris balica) เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักน้อยที่สุด เสือโคร่งที่พบในประเทศไทยเป็นเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนหรือเสือโคร่งอินโดจีน (Panthera tigris corbetti) ซึ่งเสือโคร่งสายพันธุ์นี้เพิ่งแยกออกมาจากสายพันธุ์เบงกอลเมื่อปีพ..2511 เสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนมีการกระจายอยู่ตั้งแต่ภาคตะวันออกของเมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และคาบสมุทรมาลายูของมาเลเซีย ทางสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า หรือ IUCN ได้เคยประเมินไว้ว่าในตอนปลายศตวรรษที่ 19 มีประชากรเสือโคร่งทุกสายพันธุ์ประมาณ 100,000 ตัวกระจายอยู่ทั่วไปบนผืนแผ่นดินของทวีปเอเซียแต่จากการประเมินประชากรของเสือโคร่งครั้งล่าสุดโดยปีเตอร์ แจ็คสันในปี พ..2537 ทำให้ทราบว่าเสือโคร่งในธรรมชาติได้ลดจำนวนลงจนเหลือเพียงประมาณ 5,080-7,380 ตัวเท่านั้น และมีแนวโน้มว่ากำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เสือโคร่งลดจำนวนลงอาจสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาตินั้นก็คือการถูกล่าโดยตรงเพื่อนำกระดูก เลือด อวัยวะเพศไปเป็นส่วนผสมของยาจีนแผนโบราณ การนำหนังไปเป็นเครื่องประดับ และการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง

จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบอกให้ทราบว่าสถานภาพของเสือโคร่งในทุกถิ่นที่อยู่อาศัยกำลังแย่ลง ทุก ๆ ประเทศซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะช่วยกันอนุรักษ์เสือโคร่ง ดังนั้น WWF-Thailand จึงได้เสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งขึ้นมาโดยมุ่งเน้นลงไปที่สายพันธุ์อินโดจีนซึ่งมีการกระจายอยู่ในประเทศไทยโดยแนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะอยู่ในส่วนท้ายของหนังสือเล่มนี้ซึ่งแนวทางปฏิบัตินี้จะมุ่งเน้นให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ของประเทศไทยนำไปปฏิบัติ โดยแนวทางการปฏิบัติที่จัดพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้จะให้ความสำคัญแก่หน่วยงานและองค์กรที่มีบทบาทต่อการอนุรักษ์เสือโคร่งอินโดจีนเข้ามามีส่วนร่วมและประสานงานกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นหน่วยงานในภาครัฐบาลหรือภาคเอกชน เนื่องจากการอนุรักษ์เสือโคร่งอินโดจีนจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานหลายประการที่จะช่วยให้เสือโคร่งสามารถอยู่รอดได้ในสภาพธรรมชาติ ดังนั้นหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวหรือองค์กรเดียวคงไม่สามารถช่วยอนุรักษ์เสือโคร่งสายพันธุ์นี้เอาไว้ได้ โดยแนวความคิดนี้นั้นเกิดขึ้นจากการรวบรวมประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ WAF-Thailand และผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับเสือโคร่งของบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้เคยปฏิบัติงานร่วมกันมากับ WAF-Thailand เท่านั้น ดังนั้นข้อเสนอแนะที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นเพียงแนงทางการปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ควรดำเนินการในเบื้องต้นซึ่งถ้าหากว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรใดเล็งเห็นความสำคัญและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการอนุรักษ์เสือโคร่งอินโดจีนในประเทศไทยก็สามารถนำแนวทางการปฏิบัติที่เสนอขึ้นมาในหนังสือเล่มนี้มาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการที่จะช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป 

ตารางเปรียบเทียบแสดงถึงความแตกต่างของเสือโคร่งในแต่ละสายพันธุ์
แหล่งที่มา
MAZAK ..2525

 

สายพันธุ์

น้ำหนักของตัวเต็มวัย
(กิโลกรัม)

ความยาวจากจมูกถึงปลายทาง
(เมตร)

เพศผู้

เพศเมีย

เพศผู้

เพศเมีย

อินโดจีน
(Panthera tigris corbetti)

150-195

100-130

2.55-2.85

2.3-2.55

จีนใต้
(Panthera tigris amoyensis)

130-175

100-115

2.3-2.65

2.2-2.4

เบงกอล
(Panthera tigris tigris)

130-258

100-160

2.7-3.1

2.4-2.65

ไซบีเรีย
(Panthera tigris altaica)

180-306

100-167

2.7-3.3

2.4-2.75

แคสเปียน
(Panthera tigris virgata)

170-240

85-135

2.7-2.95

2.4-2.6

สุมาตรา
(Panthera tigris sumatrae)

100-140

75-110

2.2-2.55

2.15-2.3

ชวา
(Panthera tigris sondaica)

100-141

75-115

2.48

ไม่มีข้อมูล

บาหลี
(Panthera tigris balica)

90-100

65-80

2.2-2.3

1.9-2.1