 
เมื่อกล่าวถึงป่าดงดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน
( Tropical Rain Forest )ฮาลา บาลาถูกจัดให้เป็นป่าอนุรักษ์ที่มีความสมบูรณ์โดดเด่น และมีค่ายิ่ง
ด้วยลักษณะสังคมพืชที่แตกต่างจากป่าดงดิบอื่นที่พบในประเทศไทย
ป่าฮาลา บาลาจึงเป็นแหล่งอาศัย คุ้มภัยให้กับสัตว์ป่าที่ยืนยันการพบแล้วไม่ต่ำกว่า 600 ชนิด
มีชนิดสัตว์ที่ไม่มีรายงานการปรากฏในประเทศไทยมาก่อน เช่น ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีการพบชะนีดำใหญ่หรือเซียมังเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และจากการรวบรวมรายงานพบใหม่(new record)ของนักดูนกหลายๆ
บันทึกอีก 10 ชนิดได้แก่
กระทามาเลย์ นกโพระดกหนวดแดง
นกโพระดกคิ้วดำ
นกกระปูดนิ้วสั้น นกขี้เถ้าพันธุ์ชวา นกขี้เถ้าท้องลาย นกกะรางดำ นกกะรางตาขาว นกระวังไพรหลังแดง และนกมุ่นรกภูเขา
สำหรับสัตว์ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมี 5 ชนิด ได้แก่
งูดินบาลา ตุ๊กแกหลังขีด
อึ่งหลายายหลากสี
คางคกแคระมลายู และกบว้ากเล็ก
และยังมีอีกหลายชนิดที่รอให้นักวิจัยและนักธรรมชาติศึกษาเข้าไปสำรวจ
จากปัญหาบางประการในขั้นตอนการดำเนินงานจัดตั้งเป็นป่าอนุรักษ์ ณ
วันนี้ป่าฮาลา บาลาแยกออกเป็น
2 ส่วน
ป่าฮาลา
อยู่ในจังหวัดยะลา เป็นป่าผืนใหญ่เนื้อที่ประมาณ 165,500 ไร่ เป็นเสมือนที่พักพิงสำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่เป็นดัชนีชี้ความสมบูรณ์ของป่า โดยเฉพาะสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์
เช่น กระซู่ ป่าฮาลายังมีความเด่นน่าสนใจสำหรับนักดูนก โดยเฉพาะนกหลายชนิดยังไม่มีรายงานการพบมาก่อนในบริเวณป่าดิบเขาสูงซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผืนป่าฮาลา
ป่าบาลา
อยู่ในจังหวัดนราธิวาส แม้มีพื้นที่เพียง 105,725
ไร่ แต่ก็มีสัตว์ป่าอาศัยมากมาย และเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของสัตว์ป่าในป่าดงดิบที่ราบต่ำซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1
ใน 4 ของผืนป่าบาลา สัตว์หายากหลายชนิด เช่น แมวลายหินอ่อน
กระจงควาย ยังคงพบเห็นได้ง่าย สำหรับนักดูนกย่อมไม่พลาดการเยือนป่าบาลา เพื่อเห็นนกเงือก 9 ชนิด หัวแรด หัวหงอน ชนหิน ปากย่น ปากดำ
เงือกดำ นกกก กรามช้าง
กรามช้างปากเรียบ
และนกอื่นอีกมากมาย |
หากเดินป่าในช่วงที่ลูกไทรใหญ่สุกบางครั้ง
จะเห็นฝูงนกเงือกหัวแรด 44 ตัว
สลับกับฝูงนกชนหิน 29 ตัวเข้ามากินลูกไทร โดยที่ไม่มีการต่อสู้กัน
และบางช่วงพบนกเงือกหัวแรดไล่ตีนกที่เข้ามากินลูกไทรต้นที่มันหากินอยู่ก่อน จนนกกกจำต้องบินหนีไป
ขณะที่นกเงือกกรามช้างบินเข้าไปกินลูกไทรต่อ แต่เจ้าหัวแรดกลับไม่ไล่จิก และล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมเราพบว่าต้นยวนซึ่งเป็นต้นไม้อยู่ในตระกูลถั่ว เป็นพันธุ์ไม้ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและมีลำต้นที่ปลายตรง กิ่งก้านสาขาสวยงาม เป็นต้นไม้ที่ผึ้งชอบทำรัง อีกทั้งเหยี่ยวหลายชนิดก็ชอบสร้างรังบนต้นไม้นี้
ยวนเป็นไม้เนื้ออ่อนที่เกิดโพรงได้ง่ายตามปุ่มตาไม้
จึงเป็นที่เสน่หาของนกเงือกถึง 3 ชนิด
คือ ชนหิน กรามช้าง
และปากย่น ต่างวนเวียนผลัดกันเข้าไปดูโพรง โดยนกตัวผู้เริ่มเข้าไปดูโพรงก่อน แล้วจึงพานกตัวเมียมาเลือกว่าพอใจหรือไม่ หากพอใจก็จะเกาะคอยดูตัวผู้เข้าไปตกแต่งทำความสะอาดโพรง ที่แปลกมากคือเมื่อนกชนหินร้อง ทำท่าจะครอบครองโพรง คู่นกเงือกปากย่นรีบบินมาไล่ทันที
ถึงแม้นกชนหินมีขนาดโตกว่า แต่เป็นฝ่ายยอมบินไป แต่ก็ยังกลับมาที่โพรงอีก โดยยังไม่มีฝ่ายใดครอบครองปิดปากโพรงอย่างจริงจัง ก็คงต้องเฝ้าสังเกตกันต่อไป
คุณค่า ความงาม
ความมหัศจรรย์ของป่าฮาลา บาลาจะคงอยู่อำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ด้วยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีแผนงานบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการด้านการจัดการทรัพยาการป่าไม้และสัตว์ป่าเศรษฐกิจ สังคม การประสานและร่วมมือทั้งหน่วยงานของรัฐ
องค์กรอิสระ
องค์กรปกครองท้องถิ่น
และสำคัญที่สุดคือราษฎรที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ป่ารู้คุณค่า โดยถือเสมอว่าป่าผืนนี้เป็นสมบัติของชาติ
ของประชาชนทุกคน
มิใช่ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะเข้าไปทำประโยชน์ส่วนตัว
น่าคิดว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดหากป่าฮาลาและบาลาจะเชื่อมต่อเป็นป่าผืนเดียวกัน เป็นธนาคารรวบรวมเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศป่าดงดิบชื้นในคาบสมุทรมลายู
แต่ปัญหาสำคัญมีอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะหยุดการรุกล้ำทำลายพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่ป่าที่ราบต่ำในภาคใต้ได้ถูกพัฒนาเป็นสวนยาง สวนผลไม้ แทบจะไม่เหลือแล้ว
จาก หนังสือ NATURE EXPLORER โดยศิริพร
ทองอารีย์:เรื่อง
September 2001 : ISSN 1513-4318
|