คงเป็นที่สังเกตกันโดยทั่วไปว่าเสือมีหน้าสั้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากลักษณะของกะโหลกซึ่งอยู่ภายใน แต้ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบกะโหลกของเสือแต่ละชนิดอย่างละเอียด จะเห็นความแตกต่างกันบางประการ

       เราลองมาดูกะโหลกของเสือโคร่งซึ่งเป็นเป็นเสือขนาดใหญ่ เสือชีต้าซึ่งเป็นเสือขนาดกลางและเสือขนาดเล็กในสกุลฟีลิสชนิดหนึ่ง จะสังเกตเห็นความแตกต่างคือ กะโหลกเสือโคร่งมีลักษณะค่อนข้างยาว ส่วนกะโหลกเสือชีต้าค่อนข้างสูง นอกจากนี้กะโหลกเสือโคร่งเมื่อเทียบส่วนกับสมองภายในแล้วใหญ่กว่ามาก  ขณะที่เสือขนาดเล็กไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก

                ความแตกต่างระหว่างกะโหลกเสือขนาดใหญ่กับเสือขนาดเล็ก  เป็นผลจากความแตกต่างของร่างกาย  เนื่องจากในช่วงที่เสือวิวัฒนาการร่างกายให้ใหญ่ขึ้น ส่วนสมองกลับไม่ได้เพิ่มขนาดขึ้นในอัตราเดียวกัน  ดังนั้น เราจึงพบว่าสัดส่วนของสมองต่อกะโหลกเสือขนาดใหญ่จะเล็กกว่าเสือขนาดเล็ก รวมทั้งสัดส่วนของขนาดเบ้าตาต่อกะโหลกเสือขนาดใหญ่ก็เล็กด้วยทั้งนี้เพราะลูกนัยน์ตาไม่ได้ขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดร่างกายเช่นเดียว

สำหรับสาเหตุที่กะโหลกเสือโคร่งค่อนข้างยาว ก็เพราะเมื่อร่างกายเสือใหญ่ขึ้น  กล้ามเนื้อบนใบหน้าโดยเฉพาะกล้ามเนื้อกรามต้องการพื้นที่ยึดเกาะมากขึ้น  ส่วนบนและส่วนหลังของกะโหลกจึงต้องยืดขยายออกมารองรับ  กะโหลกเสือขนาดใหญ่จึงมีสัดส่วนยาวกว่ากะโหลกเสือขนาดเล็ก

            ส่วนเสือชีต้ามีกะโหลกทรงสูงต่างจากเสือโคร่งและเสือขนาดเล็ก  เนื่องจากมีช่องโพรงจมูกขนาดใหญ่กว่าและลึกเข้าไปในกะโหลกมากกว่าถ้ามองทางด้านข้างจะเห็นว่าระยะระหว่างเบ้าตากับฟันบนห่างกันเป็นสัดส่วนมากกว่าเสือชนิดื่นคาดว่าช่องโพรงจมูกขนาดใหญ่นี้ช่วยให้การหายใจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากเสือชีต้าเป็นสัตว์ที่วิ่งไล่จับเหยื่อด้วยความเร็วสูง 

                สมองเสือคืออวัยวะสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นศูนย์รวมของระบบประสาทต่างๆเช่น การสัมผัสรับรู้ การเคลื่อนไหว ฯลฯ เราสามารถพิจารณาว่าสิ่งมีชีวิตใดมีความฉลาดล้ำเลิศเพียงใดได้จากสมองของสิ่งมีชีวิตนั้น

                สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประกอบด้วยหลายส่วน บริเวณส่วนสมองชั้นนอกหรือที่เรียกว่าคอร์เท็กซ์ ( cortex) ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากระบบประสาท  โดยแบ่งพื้นที่สำหรับแต่ละระบบเป็นส่วนๆ เช่น พื้นที่บริเวณตอนกลางของสมองชั้นนอกทำหน้าที่จัดการกับระบบประสาทการเคลื่อนไหว เป็นต้น ผิวบริเวณสมองชั้นนอกนี้ไม่เรียบแต่เป็นร่องหรือรอยหยัก ซึ่งจำนวนรอยหยักจะบอกถึงความสามารถของระบบประสาทส่วนนั้นด้วย ระบบประสาทใดที่มีความสามารถมาก ย่อมมีข้อมูลจำนวนมาก  และต้องการพื้นที่สมองเพื่อรองรับการทำงานมาก สมองส่วนนี้จึงต้องมีรอยหยักมาก ส่วนระบบใดที่มีความสามารถน้อยก็ต้องการรอยหยักน้อยของรอยหยักน้อย ดังนั้น เราจะสังเกตว่าระบบประสาทใดมีขีดความสามารถเพียงใดได้จากความมากน้อยของรอยหยักนั่นเอง

                อย่างไรก็ตาม  สำหรับสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วย่อมไม่เหลือสมองไว้ให้ศึกษา  โชคดีที่ผิวด้านในกะโหลกของสัตว์กินเนื้อจะคงร่องและรอยหยักทุกอย่างเหมือนสมองชั้นนอก  ทำให้นักโบราณชีววิทยาศึกษาดูการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของระบบประสาทจากซากดึกดำบรรพ์ได้เหมือนกับตัวอย่างที่ยังมีชีวิต

                สำหรับการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ในกลุ่มเสือ  พบว่าการเปลี่ยนแปลงยุคแรกๆในสมองของเสือทั้งกลุ่มนิมราวิดีและฟีลิดี  คือ ระบบประสาทการดมกลิ่นลดพื้นที่ลง  หลักฐานนี้สอดคล้องกับหน้าที่หดสั้นเข้า  ซึ่งแสดงว่าสัตว์ในกลุ่มเสือดมกลิ่นได้ไม่ดีเท่าสัตว์กินเนื้อกลุ่มอื่นเช่น สุนัข

                การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ยังผลอยู่ถึงปัจจุบันในเสือกลุ่มฟีลิดี  คาดว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณกว่า 1 ล้านปีก่อน  คือสมองของเสือขนาดใหญ่ได้ขยายพื้นที่ส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว  ซึ่งส่งผลให้เสือมีประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวร่างกายดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงใส่วนอื่นด้วย  เช่น สมองส่วนทีจัดการกับประสาทการได้ยินเสียงมีพื้นที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น 

 เสือรู้

                คนไทยเชื่อว่าเสือเป็นสัตว์ฉลาด  มีเล่ห์เหลี่ยมไหวพริบมากพรานรุ่นเก่าเมื่อต้องล่าเสือ  จะใช้ความระมัดระวังอย่างมาก  เพราะเชื่อว่าเสือฉลาด รู้เท่าทันคน การสะกดรอยตามเสือ ถ้าไม่ระวังก็อาจถูกเสือย้อนรอยกลับมาเล่นงานได้

                มีสำนวนไทยหลายสำนวนที่ใช้เปรียบคนฉลาดกับเสือเช่น เสือรู้ หมายถึง คนที่มีไหวพริบหรือฉลาด รู้จักเอาตัวรอด   เสือเฒ่าจำศีล หมายถึง คนที่มีท่าสงบเสงี่ยม แต่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก เสือลากหาง หมายถึง คนที่ทำท่าเชื่องซึม เป็นกลอุบายให้ผู้อื่นตายใจ แล้วจะเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ให้ทันรู้ตัว  ฯลฯ

 

ขอขอบคุณ หนังสือ เสือจ้าวแห่งนักล่า และหนังสืออีกหลายๆเล่ม ที่มีข้อมูลไว้ให้ศึกษา